วันที่ 27 ตุลาคม 2548 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน หน้า 42 ลงพิมพ์บทความ "นวดชองแก้เส้น เคล็ดลับสูตรเด็ดของชาวชอง"
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า "ชอง" คงมีน้อยคนนักที่จะทราบว่าหมายถึงอะไร ยิ่งบอกว่านวดแบบชองก็คงทำเอาหลายคนงงไปตามๆ กัน หากให้เดาคงต้องบอกว่าเป็นเทคนิคการนวดแบบหนึ่ง แต่คำว่าชองในที่นี้หมายถึงคน ลุงธรรม พันธุศิริสด หมอพื้นบ้าน ที่เชี่ยวชาญเรื่องการนวดพื้นบ้านแบบชอง อธิบายว่า ชองเป็นชนชาติหนึ่งของภาคตะวันออกมีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะ จันทบุรี ระยอง ตราด ชองถือว่าเป็นบรรพบุรุษของคนภาคตะวันออก เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม มีภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน มีประเพณี วัฒนธรรมหลายประการที่น่าสนใจ และบ่งบอกว่าชองเป็นชนชาติอารยธรรม "ภาษาชองที่คนทั่วไปน่าจะรู้จักดีคือคำว่า ฮิ ที่คนไทยชอบเอาไปล้อเลียนว่าคนเมืองจันทน์พูดลงท้ายด้วยคำว่า ฮิ ซึ่งแปลว่าใช่ไหม ซึ่งเป็นคำสร้อย และยังมีอีกหลายคำ เช่น เจวฮีด ซึ่งแปลว่า ไปหาย คือ ไปแล้วไม่รู้ว่าไปที่่ไหน ไปแล้วไม่ต้องตาม คำว่าไปของชองมี 2 ความหมาย ความหมายแรก คือ ไปแล้วตามได้ ส่วนความหมายที่ 2 คือ ไปแล้วหายไปเลย คนชองจะเรียกว่า เจวฮีด คือ เจวแปลว่าไปนั่นเอง" ด้านประเพณีของชาวชองนั้น ลุงธรรม ให้ข้อมูลว่า จุดเด่นของประเพณีชาวชอง คือ การนับถือยมทูต โดยคนชองเข้้าใจว่าในรอบ 1 ปี จะมียมทูตมาจากยมโลก 1 คณะ ราว 4 - 5 ท่าน มารออยู่ข้างบนอาณาจักรของชาวชอง เพื่อปกป้องคุ้มครองดูแลการทำไร่นาไปจนเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ยมทูตก็หมดหน้าที่และต้องส่งกลับไปยมโลกเพื่อเปลี่ยนชุดใหม่ ดังนั้นเมื่อการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น ชาวชองจึงมีพิธีส่งยมทูตกลับยมโลก โดยเรียกประเพณีนี้ว่า ประเพณีทำบุญส่งทุ่ง ลุงธรรม เล่าต่อมาในเรื่องของการรักษาพยาบาลนั้น ชาวชองซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับป่าเขาลำเนาไพร ก็มีสมุนไพรหลายตัวที่ใช้รักษาอาการป่วยไข้ และยังมีการนวดจับเส้นแบบชอง ที่สั่งสมมาแต่บรรพบุรุษในการรักษาโรคด้วย การนวดแบบชอง มีชื่อเสียงด้านการรักษาอาการปวดเมื่อยที่เกี่ยวกับเรื่องของ "เส้น" ภายในร่างกายที่มีปัญหาเรื่อง "เส้น" ที่แพทย์แผนปัจจุบันมีคำอธิบายในเรื่องนี้น้อย คนไทยย่อมเคยได้ยินคำว่า เส้นพลิก เส้นตึง ลมเข้าเส้น จนทำให้ปวดเมื่อยตามร่างกายแม้กินยาแก้ปวดก็ยังไม่บรรเทา "การนวดแบบชองนั้น ก่อนทำการรักษาหมอพื้นบ้านจะซักถามอาการผู้ป่วย จับชีพจรและที่สำคัญที่สุด ต้องถามก่อนว่า ทนเจ็บได้มากแค่ไหน ต้องเตือนไว้ก่อนว่า นวดแบบชองจะเจ็บเพราะเป็นการนวดลงลึกไปถึงเส้น ไม่ใช่การนวดกล้ามเนื้อเพื่อผ่อนคลายทั่วไป ความเจ็บขณะนวดจับเส้นจะมีมาก จนทำให้คนที่มารักษาร้องโอดโอยกันหมด แต่จะเจ็บแค่ 3 วัน หลังจากนวดเท่านั้น พอวันที่ 4 อาการจะหายเป็นปลิดทิ้ง รวมถึงการปวดเมื่อยก่อนที่จะมารักษาด้วย แต่ถ้าใครที่ทนเจ็บได้น้อย หมอพื้นบ้านก็จะมีวิธีนวดอีกแบบให้ คือจะเจ็บน้อยลง แต่เจ็บยาวคือยังปวดไปอีก แล้ววันต่อมาก็ต้องมานวดอีก ไม่เหมือนกับเจ็บครั้งเดียวแต่หายเลย ก็ต้องเลือกเอา" ลุงธรรม ชี้แจงอีกว่า การนวดจับเส้นเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นก่อนทำการรักษา ถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดเมื่อย ในรายที่รุนแรงมาก จะให้ไปเอกซเรย์ก่อนว่ามีกระดูกหัก กระดูกแตกหรือไม่ ถ้าไม่มี แสดงว่าไม่ได้เกิดการปวดเมื่อยเพราะการถูกกระแทกหรืออุบัติเหตุ ก็จะนวดจับเส้นให้เลยทั้งนี้ การนวดจับเส้นแบบชองนั้น แยกเรื่องเส้นได้ 6 ประเภท ดังนี้ คือ ประเภทที่ 1 เส้นลอย ลักษณะคือจะมีอาการปวดร้อนตรงจุดที่ปวดเมื่อยโดยไม่มีสาเหตุ ว่าเกิดจากอุบัติเหตุหรือการตกกระแทก คืออยู่ดีๆ ก็ร้อน นวดยังไงก็ไม่หายปวดเมื่อย หรือนวดตรงนั้นหายแต่เลื่อนไปปวดร้อนอีกที่หนึ่ง เช่น ปวดที่แขน พอนวดแล้วขึ้นไปปวดที่ไหล่ พอนวดที่ไหล่ กลับมาปวดที่แขนต่อ วิ่งไปมา หมอชองจะจับชีพจรทั้ง 2 ข้าง ถ้าชีพจรเบาและเต้นสลับไปมาไม่พร้อมกัน หมอชองจะไม่นวดแต่จะส่งต่อไปให้อาจารย์ชั้นสูงจะทำพิธีปัดเป่าให้ก่อน แล้วจึงมานวด ประเภทที่ 2 เ้ส้นจม ซึ่งลุงธรรมให้ข้อมูลว่ามี 2 แบบ คือ เส้นจมอย่างเดียว และเส้นจมประสมกับเส้นลอย, เส้นจมอย่างเดียว จะมีรอยบุ๋มตามเส้น เส้นตามกล้ามเนื้อหมดแรง เมื่อยลึกๆ เจ็บติดขัด หมอชองจะใช้เทคนิคเขย่าเส้นให้นิ่ง งัดเส้นขึ้นมา เส้นจะเต็ม รอยบุ๋มจะหายไป กล้ามเนื้อมีแรง หายปวดเมื่อย ขณะที่เส้นจมประสมกับเส้นลอยนั้น ไม่ใช่เส้นที่นวดได้เวลาแตะแม้จะยังไม่นวดก็จะรู้สึกเจ็บมาก แสดงว่ายังมีลมพัดไปมาอยู่ในเส้น การนวดแบบชองจะใช้วิธีเดินทางในคาถากำกับสกัดจุดให้อยู่กับที่ หลังจากนั้นจะเขย่าเส้นแล้วงัดขึ้นมา ประเภทที่ 3 เส้นติด ลักษณะคือเป็นเ้ส้นติดกระดูก จะปวดเมื่อยมาก นวดอย่างไรก็ไม่หาย วิธีแก้คือ งัดออกจากกระดูก ถ้างัดครั้งเดียวแล้วออกจะเจ็บมากแต่ก็หายทันที ดังนั้นต้องให้ผู้ป่วยเลือกเองว่าจะเจ็บครั้งเดียว หรือเจ็บน้อยแต่เจ็บนาน ประเภทที่ 4 เส้นตก คือเส้นตกอยู่ในร่องกระดูก จะมีอาการปวดตามข้อกระดูกต่างๆ เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า กระดูกไขสันหลัง นวดอย่างไรก็ไม่หาย เพราะเส้นหย่อนเคลื่อนลงไปในร่องกระดูก เทคนิคแบบชองจะค่อนข้างยาก โดยจะใช้แค่ปลายนิ้วคลึงเบาๆ จนเส้นหลุดขึ้นมา ประเภทที่ 5 เส้นพลิก เพราะกระดูกแนวเส้นพลิก ที่รู้จักกันดี คือ ข้อเท้าแพลง คอตกหมอน กระดูกเลื่อนพาเส้นไปด้วย หมอชองจะนวดจัดกระดูกให้เข้าที่ และค่อยๆ จับเส้นกลับเข้าที่เดิม ประเภทสุดท้าย คือ ลมเข้าเส้น จะแสดงออกถึงอาการบวม กดแล้วบุ๋มมีลม สังเกตเห็นได้ง่าย เรียกว่า ลมขังอยู่ตามเส้นไม่สามารถวิ่งได้ นวดแบบชองจะเปิดประตูลมไล่ลมตามเส้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเรอออกมา กรณีนี้จะใช้ยาธรณีสันฑะฆาตร่วมด้วย ลุงธรรมอธิบายจุดเด่นของการนวดแบบชองว่า จะแก้อาการเส้นติดได้ดีมาก โดยเฉพาะกรณีตรงหัวเข่า ที่ผ่านมาเคยมีคนไข้มาหาเพราะหมอแผนปัจจุบันระบุว่า ต้องผ่าตัด แต่เมื่อใช้วิธีการนวดจับเส้นแบบชองประมาณ 10 วัน อาการก็ทุเลาลง วันที่ 26 ตุลาคม 2548 รายการ นวดชอง เวทีวันพุธ เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องเบญจกูล อาคารเรือนไทย กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี โดยธรรม พันธุศิริสด และสมใจ พันธุศิริสด เป็นวิทยากร จัดโดย กลุ่มงานการแพทย์พื้นบ้านไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข |
http://chongmassage.tripod.com E-mail :: deenaho@hotmail.com Youtube :: นวดชอง สลักเส้น Facebook :: Chong Sculpture Massage |